ประวัติความเป็นมา


      ประวัติ / ความเป็นมา

 



          การแห่ปราสาทผึ้ง เป็นประเพณีสำคัญงานหนึ่งในฮีตเดือนสิบเอ็ด การแห่ปราสาทผึ้งนั้นเป็นการถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุม สำหรับตำนานของการทำปราสาทผึ้ง มาจากคติที่เชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่อให้ได้ไปเกิดในภพหน้า เช่น การไปเกิดในสวรรค์ก็จะมีปราสาทอันสวยงามแวดล้อมด้วยนางฟ้าเป็นบริวาร ถ้าเกิดใหม่ในโลกมนุษย์จะมีแต่ความมั่งมีศรีสุขแต่ปัจจุบันคนอีสานถือว่าประเพณีนี้เป็นการร่วมงานบุญบนความรื่นเริงอันยิ่งใหญ่ในรอบปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ว่างจากงาน  และตามตำนานอีกเรื่องหนึ่งมีว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาเป็นปีที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประทับที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงแสดงอภิธรรมปฏิกรณ์แก่พุทธมารดา เป็นการตอบแทนพระคุณจนกระทั่งบรรลุถึงโสดาบัน ครั้นถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวัน “มหาปวารณาออกพรรษา พระพุทธเจ้ากำหนดเสด็จสู่เมืองมนุษย์ พระอินทร์จึงเนรมิตบันได 3 ชนิด คือ….
              บันไดทองคำ     อยู่เบื้องขวา    สำหรับทวยเทพเทวดาลง
              บันไดเงิน          อยู่เบื้องซ้าย    สำหรับพระพรหมลง
              บันไดแก้วมณี   อยู่ตรงกลาง    เพื่อให้พระพุทธองค์เสด็จ
          เชิงบังไดทั้ง 3 นี้ ตั้งอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสนครในโลกมนุษย์ หัวบันไดอยู่ที่เขาสิเนคุราช บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก่อนเสด็จลงพระพุทธเจ้าประทับยืนบนบอดเขาสิเนรุราช ทำ “โลกนิวรณ์ปาฏิหาริย์” โดยทรงแลดูเบื้องบนปรากฏมีเนินเป็นอันเดียวกันถึงพรหมโลก ทรงแลดูข้างล่างก็ปรากฏมีเนินเป็นอันเดียวกันถึงอเวจีนคร ทรงแลดูรอบทิศจักรวาลหลายแสน ก็ปรากฏเนินอันเดียวกัน (สวรรค์ มนุษย์ และนคร ต่างมองเห็นกัน) ซึ่งเรียกวันนี้ว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก”
         ครั้นแล้วพระพุทธองค์เสด็จลงทางบันไดแก้วมณี ท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร บรรดาเทวดาลงบันไดทองคำทางช่องขวา มหาพรหมลงทางบันไดเงินเบื้องซ้าย มีมาตุลีเทพบุตรถือดอกไม้ของหอมติดตาม ครั้นเสด็จถึงประตูเมืองสังกัสสนครทรงประทับพระบาทเบื้องขวาลงก่อน นาค มนุษย์ และนรก ต่างชื่นชมปลื้มปิติในพระพุทธบารมี เกิดเลื่อมใสในบุญกุศลจนเกิดจินตนาการ เห็นปราสาทสวยงามใคร่จะไปอยู่ จึงรู้ชัดว่าการที่จะได้ไปอยู่ปราสาทอันสวยงามนั้นต้องสร้างบุญกุศล ประพฤติปฏิบัติอยู่ในหลักศีลธรรมอันดี ทำบุญตักบาตร สร้างปราสาทกองบุญนั้นในเมืองมนุษย์เสียก่อนจึงจะไปได้ จากนั้นเป็นต้นมาผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงพากันคิดสร้างสรรค์ทำบุญปราสาทให้มีรูปร่างเหมือนวิมานบนสวรรค์ มีลวดลายวิจิตรสวยงามตามยุคตามสมัยสืบต่อมา บางแห่งก็ถือว่าสร้างปราสาทผึ้งสำหรับรับเสด็จพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จมายังโลกมนุษย์ไปสู่ที่ประทับ
เหตุที่มีการนำเอาขี้ผึ้งมาทำเป็นปราสาทนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลเช่นเดียวกันซึ่งในหนังสือธรรมบทภาค 1 กล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ดงไม้สาละใหญ่ ที่ป่ารักขิตวัน ใกล้บ้านปาลิไลยก์ในพรรษาที่ 9 โดยช้างปาลิไลยก์กับลิงเป็นผู้อุปัฏฐากไม่มีมนุษย์อยู่เลยตลอด 3 เดือน ช้างจัดน้ำและผลไม้มาถวาย ส่วนลิงหารวงผึ้งมาถวาย เมื่อพระองค์ทรงรับแล้วเสวยลิงเห็นก็ดีใจมากไปจับกิ่งไม้เขย่าด้วยความดีใจ บังเอิญกิ่งไม้หักลิงนั้นตกลงมาถูกตอเสียบอกตาย และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนปราสาทวิมานสูง 30 โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
          ครั้นถึงวันมหาปวารณาออกพรรษา พระพุทธเจ้าตรัสลาช้างแล้วเสด็จเข้าสู่เมืองโกสัมพี ต่อไปช้างคิดถึงพระพุทธเจ้ามากจนหัวใจแตกสลาย ไปเกิดบนปราสาทวิมานสูง 30 โยชน์ พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงคุณความดีของช้างและลิง จึงทรงนำเอารวงผึ้งมาทำเป็นดอกประดับในโครงปราสาทตามจินตนาการเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างและลิง
          ในกาลต่อมา ชาวพุทธจึงได้ถือเป็นแนวทางจัดสร้างปราสาทผึ้ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างกุศลสืบมา โดยถือเอาวันออกพรรษาเป็นวันประเพณีถวายปราสาทผึ้ง ปัจจุบันประเพณีถวายปราสาทผึ้งยังมีอยู่ในภาคอีสานหลายจังหวัด แต่จังหวัดที่มีการถวายปราสาทผึ้ง โดยจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร การแห่ปราสาทผึ้งของชาวสกลนครนี้กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่ครั้งสมัย พระเจ้าสุวรรณภิงคารโปรดให้ข้าราชบริพารจัดทำ “ต้นเผิ่ง” (ต้นผึ้ง) ขึ้นในวันออกพรรษาแล้วแห่แหนไปยังวัดพระธาตุเชิงชุมเป็นพุทธบูชา ชาวสกลนครจึงยังคงสืบทอดปฏิบัติมาจนทุกวันนี้ ในงานนี้นอกจากจะมีการแห่ปราสาทผึ้งแล้วยังมีการแข่งเรือด้วย
ส่วนความเชื่อในการสร้างปราสาทผึ้งจากเรื่องไตรภูมิในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนที่มีปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาที่ว่าด้วยการที่มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในโลกภูมิต่างๆ ที่มีวิมานปราสาทเป็นเรือนที่อยู่อาศัยอย่างสะดวกสบาย และยังมีกล่าวในคัมภีร์มาเลยยเทวัตเถรวัตถุที่ได้กล่าวถึงพระมาลัยอรหันต์ ซึ่งเป็นพุทธสาวกองค์หนึ่ง ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เคยไปเทศนาโปรดสัตว์ในนรกภูมิ และได้เสด็จขึ้นไปบนสวรรค์ เพื่อไหว้องค์พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล หลังจากนั้นพระมาลัยอรหันต์ได้เทศนาโปรดแก่พุทธศาสนิกชน เพื่อให้ทราบถึงวิธีการสร้างบุญกุศล เพื่อที่จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ รวมทั้งการสร้างอาคารศาสนสถานถวายเป็นพุทธบูชานั้นเป็นหนทางหนึ่งที่เป็นอานิสงส์นำพาให้ได้ไปเกิดบนสวรรค์ มีวิมานเป็นที่อยู่อาศัย และมีเหล่านางฟ้าเป็นบริวาร
          ความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ เป็นความเชื่อพื้นบ้านที่ทำให้ชาวอีสาน ถือเป็นปรัชญาคติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างปราสาทผึ้ง คือ ความเชื่อที่ว่าคนที่ตายไปแล้วดวงวิญญาณก็ยังต้องการสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องการที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้มีการประกอบพิธีเซ่นสรวงดวงวิญญาณ ตลอดจนการสร้างเรือนจำลองในลักษณะของศาลหรือหอผี เพื่ออุทิศส่วนกุศล จากการสร้างปราสาทผึ้งแก่ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือจ้ากรรมนายเวรผู้ล่วงลับ
          นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ในตำนานเรื่องหนองหาน (สกลนคร)ว่า ในสมัยขอมเรืองอำนาจและครองเมืองหนองหาน ในแผ่นดินพระเจ้าสุวรรณภิงคาร ได้โปรดให้ข้าราชบริพารทำต้นผึ้งหรือปราสาทผึ้งในวันออกพรรษา เพื่อแห่คบงันที่วัดเชิงชุม (วัดพระธาตุเชิงชุมวรมหาวิหาร) จากนั้นเมืองหนองหานได้จัดปราสาทผึ้งต่อกันมาทุกปี
        ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาค 4 ว่าด้วยมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร และมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อ ร.ศ.125 (2449) มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการแห่ปราสาทผึ้งรอบองค์พระธาตุพนม เมืองนครพนมดังนี้
        “เวลาบ่าย 4 โมง ราษฏร์แห่ปราสาทผึ้งและบ้องไฟ (บั้งไฟ) เป็นกระบวนใหญ่เข้าประตูชาลามหาเศรษฐี ด้านตะวันตก แห่ประทักษิณองค์พระธาตุสามรอบ กระบวนแห่นั้นคือ ผู้ชายและเด็กเดินข้างหน้าหมู่หนึ่ง แล้วมีพิณพาทย์ต่อไปถึงบุษบกมีเทียนขี้ผึ้งใหญ่ 4 เล่มในบุษบก แล้วมีรถบ้องไฟ (บั้งไฟ) ต่อมามีปราสาทผึ้ง คือ แต่งหยวกกล้วยเป็นรูปปราสาทแล้วมีดอกไม้ ทำขี้ผึ้งเป็นเครื่องประดับ มีพิณพาทย์ ฆ้องกลอง แวดล้อมแห่มา และมีชายหญิงเดินตามเป็นตอนๆ กันหลายหมู่ และมีกระจาดประดับประดา อย่างกระจาดผ้าป่าห้อยด้วยไส้เทียน และไหมเข็ด เมื่อกระบวนแห่ครบสามรอบแล้ว ได้นำปราสาทผึ้งไปตั้งถวายพระมหาธาตุ ราษฎร์ก็นั่งประชุมกันเป็นหมู่ๆ ในลานพระมหาธาตุคอยข้าพเจ้าจุดเทียนนมัสการ แล้วรับศีลด้วยกัน พระสงฆ์มีพระครูวิโรจน์รัตโนบลเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ เวลาค่ำมีการเดินเทียนและจุดบ้องไฟ ดอกไม้พุ่ม และมีเทศน์กัณฑ์หนึ่ง”  จากพระนิพนธ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งได้มีการถือปฏิบัติมาช้านานแล้ว และมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาด้วย