กิจกรรม/พิธี

กิจกรรม / พิธี


            รูปทรงของปราสาทผึ้ง สามารถแบ่งตามลักษณะได้ 4 แบบ คือ ปราสาทผึ้งทรงพระธาตุ ทรงหอผี ทรงบุษบก และทรงจตุรมุข
       1. ปราสาทผึ้งทรงพระธาตุ ลักษณะโดยรวมคลายกับพระสถูปเจดีย์ หรือพระธาตุที่ปรากฏในบริเวณภาคอีสาน และประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม หรือบางทีเรียกว่า เจดีย์ทรงดอกบัวเหลี่ยม เช่นพระธาตุพนม พระธาตุเชิงชุม พระธาตุศรีสองรัก พระธาตุบังพวน เป็นต้น ปราสาทผึ้งรูปทรงนี้จากหลักฐานภาพถ่ายจากกองจดหมายเหตุแห่งชาติ สันนิษฐานว่า น่าจะมีการกระทำอยู่ในช่วง พ.ศ.2449 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
       2. ปราสาทผึ้งทรงหอผี เป็นปราสาทผึ้งที่สร้างขึ้นเลียนแบบอาคารเรือนที่อยู่อาศัยแบบพื้นเมืองของชาวอีสาน แต่สร้างให้มีขนาดเล็กเป็นลักษณะของเรือนจำลอง ปราสาทผึ้งแบบทรงหอผีมีลักษณะเช่นเดียวกับศาลพระภูมิ ศาลมเหศักดิ์ หรือศาลปู่ตา ตามหมู่บ้านต่างๆ ในชนบท ซึ่งศาลต่างๆ เหล่านั้นมีลักษณะโดยรวมจำลองรูปแบบมาจากอาคารเรือนที่อยู่อาศัย การสร้างปราสาทผึ้งทรงหอผีได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2473 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
       3.  ปราสาทผึ้งทรงบุษบก เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นจำลองจากบุษบก บุษบกเป็นเรือนเครื่องยอดขนาดเล็ก หลังคาทรงมณฑป ตัวเรือนโปร่ง มีฐานทึบ และเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลักษณะคล้ายกับบุษบกธรรมาสน์ ชาวอีสานเรียกว่า หอธรรมาสน์ หรือ ธรรมาสน์เทศน์
       4.  ปราสาทผึ้งทรงจตุรมุข เป็นปราสาทผึ้งที่จำลองแบบมาจากปราสาทราชมณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารจำลองขนาดเล็กทรงจตุรมุข มีแผนผังเป็นรูปกากบาท มีสันหลังคาจั่ว ชั้นบนอยู่ในระดับเดียวกัน และออกมุขเสมอกันทั้งสี่ด้าน ที่หลังคามีจั่ว หรือหน้าบันประจำมุขด้านละจั่วหรือด้านละหนึ่งหน้าบัน ด้วยเหตุที่มีการออกมุขทั้งสี่ด้าน และประกอบด้วยหน้าบันสี่ด้าน จึงเรียกว่าทรงจตุรมุข ซึ่งเป็นอาคารที่มีเรือนยอดเป็นชั้นสูง เช่นเดียวกับอาคารประเภทบุษบก และมีการออกมุขทั้งสี่ด้านที่หลังคาทรงจั่ว



         งานเริ่มจากวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า วันโฮม หรือวันรวม เป็นการรวบรวมปราสาทผึ้งจากคุ้มวัดต่างๆ ที่บริเวณวัด แต่ละคุ้มจะประจำอยู่ซุ้มของตัวเองรอบๆ กำแพงวัด และพอถึงวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีการทำบุญตักบาตร เสร็จแล้วก็จะจัดขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ในแต่ละขบวนแห่ด้วยเกวียน แต่ใช้คนลากแทนวัว แต่ละปราสาทผึ้งมีนางฟ้าหรือเทพีนั่งอยู่ตอนหน้าของเกวียน ตรงกลางเป็นปราสาทผึ้ง ขบวนแห่มีพิณ กลอง ฆ้อง ตามด้วยขบวนคนหนุ่มคนสาว และคนเฒ่าคนแก่ ถือ ธูปเทียน ประนมมือ แห่ครบ 3 รอบ ก็ถวายแก่ทางวัด


 
         ปัจจุบันการทำปราสาทผึ้งและขบวนแห่เปลี่ยนแปลงไปมาก รูปทรงของปราสาทผึ้งและการประดับประดาวิจิตรพิสดาร มีการออกแบบลวดลายต่างๆ ไม่เหมือนในอดีต ขบวนแห่ที่เคยใช้เกวียนก็เปลี่ยนมาใช้รถยนต์แทน และเปลี่ยนสถานที่รวมขบวนจากบริเวณวัดเป็นสนาม ขบวนแห่ยาวเป็นกิโลเมตร มีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มในขบวนแห่ปราสาทผึ้ง คือ การแสดงเกี่ยวกับประเพณีโบราณของชาวอีสาน เช่น รำมวยโบราณ ฟ้อนผู้ไท โส้ทั่งบั้ง บุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน การตำข้าว การปรุงยาสมัยโบราณ การแข่งเรือ และการแสดงความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น การไล่ผีปอบ การปลุกพระ ตลอดถึงการแสดงนรก สวรรค์


 
        ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งที่ถือปฏิบัติในวันออกพรรษามีอยู่สี่แห่ง ได้แก่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อำเภอเมือง  จังหวัดนครพนม,  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย,  และอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร